วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่มือใหม่

เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่มือใหม่

คุณแม่มือใหม่เมื่อมีเวลาอยู่กับลูก ก็มักจะคอยเฝ้าสังเกตลูกอย่างละเอียด ซึ่งพอพบสิ่งอะไรๆ ที่ไม่แน่ใจก็จะเกิดความวิตกกังวล ทำให้เสียความมั่นใจในการเลี้ยงดูลูก เกิดความเครียด จึงมักจะมีคำถามเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของลูก มาถามคุณหมอกันดังนี้

กังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัว


ช่วงสัปดาห์แรกของทารก ถึงแม้ลูกจะดูดนมได้ดี ก็ยังจะมีน้ำหนักตัวลดลงได้ ถึงร้อยละ 10 ของน้ำหนักแรกเกิด ทั้งนี้เพราะในช่วงวันแรกๆ ลูกอาจจะยังใช้เวลานอนค่อนข้างมากตลอดวัน และยังไม่ค่อยสนใจที่จะดูดนม บางทีพอเริ่มให้ดูดนมไปได้แป๊บเดียว ก็หลับไปซะแล้ว และลูกจะเริ่มมีการขับถ่ายปัสสาวะ, อุจจาระ และมีการสูญเสียความชื้นทางผิวหนัง เช่น เหงื่อ และทางลมหายใจ โดยเฉพาะในทารกที่ได้นมแม่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีนำหนักลดลงได้มากกว่านี้ เพราะส่วนใหญ่น้ำนมแม่จะยังไม่มีมามากพอจนกว่าเข้าวันที่ 3-4 หลังคลอด ในรายที่พบว่าน้ำหนักของลูกในช่วงอายุไม่กี่วันนี้ ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 และ/หรือ มีปัสสาวะออกน้อย บางครั้งมีปัสสาวะสีแดงเหมือนตะกอนสีอิฐ แสดงว่าลูกมีปัญหาได้รับนม/น้ำไม่พอ ควรปรึกษาแพทย์

กังวลเกี่ยวกับผื่นต่างๆ ตามแก้มและตามตัว

แม้ว่าคุณแม่กำลังภูมิใจที่ลูกมีผิวที่บางสวยแบบทารก แต่ในเวลาเพียงไม่กี่วัน คุณแม่หลายท่านก็จะเริ่มกังวลที่มองเห็นผื่นจุดเล็กจุดน้อย ตามแก้ม และตามตัว ซึ่งผื่นเหล่านี้จะมีหลายชนิด และบางครั้งดูจะเป็นมากจนน่าตกใจ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้เป็นโรคผิวหนังอะไร และมักจะจางลงจนหายไปเองในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ได้แก่

1. สิวทารก ( Baby acne) คือ เม็ดขาวๆ ฐานแดงๆ ตามแก้มเหมือนสิว ซึ่งมีคำอธิบายว่าอาจเป็นจากการที่ยังมีผลของฮอร์โมนอิสโตรเจนจากแม่มาทำให้ลูกมี สิวทารกนี้ขึ้น แต่ก็มักจะหายไปเองในเวลาไม่นาน

2 . milia คือ จุดเม็ดขาวๆ เล็กอยู่เป็นกลุ่มที่บริเวณจมูก และแก้ม ที่เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน ซึ่งจะหายไปเองได้

3. Erythema intoxicum ผื่นเม็ดแดงๆ ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ที่มีหัวบางส่วนเป็นสีขาว หรือสีเหลือง กระจายไปตามหลังและตามหน้าอกเป็นบริเวณกว้าง ทำเอาคุณแม่มือใหม่หลายคนตกใจ ซึ่งมักจะพบในทารกอายุเพียงไม่กี่วัน (ส่วนใหญ่เกิดในทารกอายุน้อยกว่า 10 วัน) และมักจะหายไปเองใน 3-5 วันต่อมา โดยไม่ต้องการรักษาแต่อย่างใด

4. Seborrheic dermatitis คือผื่นที่เป็นเหมือนสะเก็ดหนาๆ เป็นแผ่นหรือกระจุกบริเวณหนังศีรษะ กระหม่อมหน้า และอาจลามมาบริเวณหน้าผาก บริเวณหลังใบหู และระหว่างหัวคิ้วได้บ้าง สำหรับผื่นที่อาจจะมีอันตรายคือผื่นที่ดูลุกลามเร็ว และมีไข้ร่วมด้วย หรือผื่นแพ้แบบลมพิษ หรือมีอาการเห่อแดงแตกมีน้ำเหลืองซึมๆ (infantile eczema) หรือผื่นที่ดูจะลุกลามมากขึ้น หลังการให้การรักษาแบบทั่วๆไปแล้ว ควรปรึกษาแพทย์

กังวลเรื่องแหวะนมหรืออาเจียนบ่อย

ทารกโดยทั่วไปมักจะมีการแหวะนมปริมาณเล็กน้อย หลังทานนมอิ่ม หลังเรอแล้วจับนอน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนที่ควบคุมหลอดอาหารกับกระเพาะในทารกยังทำงานไม่ได้ดีนัก โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อย จะมีปัญหาแหวะได้บ่อย แม้ว่าบางครั้งจะดูเหมือนแหวะนมปนน้ำย่อยออกมาปริมาณมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม ซึ่งต้องการการฝึกฝนของคุณแม่ในการป้อนนม

พยายามอย่าให้เด็กกลืนลมมากไป โดยอาจต้องใช้ขวดนมชนิดพิเศษ ที่จะป้องกันการกลืนลม หรือขณะป้อนนมต้องคอยดูให้น้ำนมท่วมบริเวณจุกขวดเสมอ และควรจับให้เด็กเรอในระหว่างการป้อนนมและหลังจากทานนมจนอิ่มแล้ว อีกทั้งให้อุ้มลูกให้อยู่ในท่าศีรษะสูง เช่น อุ้มพาดบ่า สักพักจนกว่าลูกจะเรอได้พอควร ก่อนวางนอน จะช่วยลดการแหวะนมได้ และส่วนใหญ่ปัญหานี้จะดีขึ้นเองเมื่ออายุ 3-4 เดือน

ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยเช่นกันคือ การให้ทานนมมากเกินไป เนื่องจากแม่กลัวว่าลูกจะได้นมไม่พอ เมื่อเห็นลูกร้องไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ก็จะรีบป้อนนมให้ เพราะคิดว่าลูกหิว ซึ่งโดยธรรมชาติเมื่อลูกมีนมอยู่ในปากก็จะดูดและทานนมต่อได้ ทำให้เด็กได้ทานนมเกือบตลอดเวลา จนได้ปริมาณมากเกินที่กระเพาะจะรับไหว ก็จะมีอาเจียนออกมา (ส่วนใหญ่จะมีนมออกมาปริมาณมากพอควร) จากนั้นก็จะรู้สึกสบายขึ้นพอหลับต่อได้ แต่ในเวลาไม่นานก็จะตื่นมาร้องหิว จะทานนมอีก เพราะอาเจียนนมออกไปจนกระเพาะว่างไปไม่นาน ทำให้เกิดเป็นวงจรการป้อนนมมากจนอาเจียน ที่เรียกว่า overfeeding ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะทำเช่นนั้น โดยไม่รู้ตัว เพราะกลัวว่าลูกจะทานไม่พอ หรืออาจเพราะเชื่อผิดๆว่าต้องให้ดื่มน้ำมากๆ หลังทานนม

นอกจากนี้บางสภาวะที่คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าลูกอาเจียน แหวะนมบ่อย เช่น อาเจียนพุ่งค่อนข้างบ่อยหลังป้อนนมอิ่ม และน้ำหนักของลูกไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ทำให้นึกถึง ภาวะกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารกับกระเพาะอ่อนแรงเกินไปเกิดการขย้อนกลับได้ง่าย ที่เรียกว่า gastro-esophageal reflux หรือ กล้ามเนื้อหูรูดของส่วนปลายกระเพาะกับลำไส้เล็กส่วนต้น มีลักษณะตีบแข็งเกินไป ที่เรียกว่า Pyloric stenosis ซึ่งเมื่อนึกถึงภาวะ 2 อย่างนี้แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป เช่น การทำอัลตราซาวน์ หรือ การเอกซเรย์กลืนแป้ง ฯลฯ


กังวลว่าลูกหายใจแรง และบางครั้งมีไอ

ในบางครั้งอยู่เฉยๆ เด็กจะมีจาม หรือมีการหายใจแรงในช่วงที่ลูกกำลังดูดนม หรือกำลังร้องนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กจะต้องกลั้นหายใจ ขณะที่กำลังดูดและกลืนนม ในช่วงที่ลูกหิวมาก การดูดนมในตอนแรกจะค่อนข้างแรงและต่อเนื่อง จนผ่านไปสักพัก เด็กจะเริ่มดูดช้าลงหน่อย และมีระยะพักหายใจเป็นช่วงๆ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าลูกหายใจแรง ดูเหมือนเหนื่อย ในการร้องไห้ก็เช่นกัน เด็กจะร้องค่อนข้างมากและกลั้นหายใจไปด้วย ทำให้เหมือนกำลังดำน้ำ อีกทั้งมีน้ำตาออกมาทำให้ดูเหมือนหายใจครืดคราด เพราะน้ำตาออกมาทางรูจมูก และบางครั้งจะมีไอด้วย

คุณแม่หลายคนจึงกลัวว่าลูกจะเป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งปกติที่พบบ่อยในทารก อาการเหล่านี้จะแยกจากอาการหวัดที่ป่วยจริงตรงที่ว่า ถ้าเป็นหวัดจริงคุณจะพบว่าการหายใจของลูกจะครืดคราดค่อนข้างตลอดเวลา ทั้งช่วงทานนม และช่วงที่เขาอยู่สบายๆ เช่น นอนเล่นอยู่ สำหรับเด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจที่มีอาการแสดง จะพบว่า การดูดนมจะไม่ค่อยมีแรง และเด็กจะดูเหนื่อย หายใจเร็ว แม้ว่าจะนอนอยู่เฉยๆ จะดูดนมได้น้อย และถ้าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียวจะพบว่า มีสีหน้าคล้ำตอนร้องไห้ และคล้ำตอนดูดนมร่วมด้วย ซึ่งถ้ากังวลมากก็ควรปรึกษาแพทย์

กังวลว่าลูกมีอุจจาระสีเข้มผิดปกติ หรือมีปัญหาท้องผูก ท้องเสีย

คุณแม่ส่วนใหญ่จะคอยเฝ้าสังเกตดูอุจจาระของลูก ซึ่งในช่วง 2-3 วันแรก จะเป็นอุจจาระที่เรียกว่า “ขี้เทา” (meconium) มีสีค่อนข้างดำเขียว ต่อมาเมื่อลูกทานนมได้ดีขึ้นอุจจาระก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง และเนื้ออุจจาระจะเป็นเละๆหน่อยในรายที่เลี้ยงด้วยนมแม่ เด็กบางคนจะถ่ายบ่อย แทบจะทุกมื้อ หลังทานนม ในช่วงแรกๆ และต่อมาก็จะเริ่มมีการถ่ายอุจจาระที่เหนียวขึ้น และห่างครั้งออกไป อาจเป็นเพียงวันละ 1-2 หน หรือเป็นวันเว้นวัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าท้องผูก โดยให้ถือลักษณะของอุจจาระเป็นเกณฑ์สำคัญ คือ ในรายที่ท้องผูก อุจจาระจะเป็นก้อนแข็ง หรือเป็นเม็ดๆ และบางครั้งจะเจ็บ บางครั้งมีเลือดสดติดมากับก้อนอุจจาระ แต่ถ้าลักษณะของอุจาระเป็นเนื้อนุ่มหรือเหนียว แม้เด็กจะทำท่าร้องหรือเบ่งบ้าง ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่เรียกว่าท้องผูก เช่นกัน ในเรื่องท้องเสีย ถ้าถ่ายเป็นน้ำจู๊ดๆ แม้เพียงครั้ง หรือ สองครั้งก็ถือว่าท้องเสีย และรายที่มีอุจจาระเละมาก เป็นมูกๆ หรือมีมูกเลือดปน แม้จะไม่กี่ครั้งก็ถือเป็นท้องเสีย ซึ่งควรปรึกษาแพทย์

คุณอาจจะเก็บตัวอย่างอุจจาระสดใส่ในขวดพลาสติคหรือถุงพลาสติกสะอาด นำไปให้แพทย์ดูด้วยก็ได้ การนำผ้าอ้อมที่เปื้อนอุจจาระไปให้ดูบางครั้งอุจาระที่มีจะค่อนข้างแห้งไปหมดจนดูรายละเอียดไม่ได้มาก และอาจทำให้ไม่สามารถส่งตรวจเพิ่มเติมได้ ในบางครั้งอุจาระที่เป็นปกติจะไม่เป็นสีเหลืองแต่จะเป็นสีเขียวปนเทา เพราะเป็นสีของน้ำดีหรือธาตุเหล็กในนมที่คลุกเคล้าอยู่ในอุจจาระ และขึ้นกับความถี่บ่อยของการถ่าย และชนิดของนมที่ใช้ด้วย นมผสมบางยี่ห้อจะทำให้อุจจาระมีสีค่อนข้างเข้มได้บ่อย และบางครั้งอุจาระจะมีกลิ่นที่ค่อนข้างแรง ซึ่งไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด

กังวลว่าลูกร้องกวนมาก

เป็นเรื่องปกติที่ทารกจะร้องค่อนข้างบ่อยในช่วงเดือนแรกๆ เพราะการร้องเป็นวิธีเดียวที่ลูกจะใช้ในการสื่อสารกับคุณแม่ เพื่อบอกว่าเขาต้องการคุณแม่นะ แต่จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คุณแม่ก็จะค่อยๆเรียนรู้เองว่า ลักษณะการร้องแบบนี้... สงสัยเดี๋ยวจะอึแน่........ ร้องแบบนี้...ท่าจะหิว......... ร้องแบบนี้...อยากให้อุ้ม ฯลฯ แต่ก็มีบางครั้งที่พบว่าเด็กจะร้องกวนโยเยอย่างไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะทำอะไรๆให้ก็ไม่ถูกใจ ไม่ยอมหยุดร้อง และมักจะเป็นค่อนข้างบ่อยในเวลาตอนเย็น ร้องไปนานประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะเหนื่อยหลับไปเอง บางครั้งก็ดูเหมือนท้องอืดๆ มีลม ... กรณีเช่นนี้ก็คือการร้อง 3 เดือน หรือที่รู้จักกันในนาม โคลิก (colic) ซึ่งยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ อาการโคลิกนี้จะหายไปเองในช่วงอายุประมาณ 3-4 เดือน

ถ้าคุณแม่กังวล ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์ อาจจะมีการให้ยาขับลมเพื่อลดแกสในกระเพาะ ถ้ายังไม่ดีขึ้นบางครั้งอาจลองเปลี่ยนนมเป็นนมที่ทำให้มีแกสน้อย เช่น นมที่ไม่มีสารแลคโตส หรือในบางรายถ้านึกถึงกรณีแพ้นมวัว ก็ใช้นมสูตรพิเศษสำหรับลดปัญหาการแพ้นมวัว ที่เรียกว่า hypoallergenic formula หรือ นมถั่วเหลืองสำหรับทารกให้ลองใช้ดู ซึ่งทารกส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นและคลี่คลายปัญหาการร้องกวนไปในที่สุด แต่ก็ยังจะมีไม่กี่รายที่เป็นโคลิกตัวจริง ที่จะร้องกวนมากๆ ต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น